วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

คำว่า ทอง ไม่ได้มาจากภาษามอญ

มีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่า คำว่า ทอง มาจากภาษามอญ โดยเปรียบเทียบกับคำว่า คำ  (ใน ทองคำ) ซึ่ง "เป็นคำไทยแท้" ดังข้อเขียนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (2563) ดังต่อไปนี้

ทองคํา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า gold คํามอญใช้ “ทอง” คำเดียวก็เท่ากับ gold ส่วนลาวใช้ “คํา” เท่านั้น
หรือข้อเขียนในเพจเฟซบุ๊ก รามัญคดี - MON Studies ดังต่อไปนี้

มีอยู่คำเดียวที่รับเอาวัฒนธรรมการด่าแบบไทยไปใช้นั่นคือ "ปะกาวทอ" ปะกาว แปลว่า ดอกไม้ "ทอ" เป็นภาษามอญโบราณและเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ทอง ในภาษาไทย...

คำว่า ทอง เป็นคำมอญจริงหรือไม่? คำว่า ทองคำ เป็นคำซ้อนจริงหรือไม่? บทความนี้จะแสดงให้เห็นว่า คำว่าทองควรจะเป็นคำไท (เกือบ) ดั้งเดิมต่างหาก ไม่ใช่คำที่มาจากภาษามอญ และมีใช้อย่างกว้างขวางในภาษาตระกูลไทอื่นๆ หลายภาษา

คำว่า ทอง แท้จริงมาจากไหน

คำว่า ทอง ในภาษาไทย มาจากคำภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดังเดิม (Proto-Southwestern Tai) *dɔːŋA ซึ่งก็รับมาจากภาษาจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนปลาย ถึงจีนยุคกลางตอนต้นว่า *doŋA หรือ *dəwŋA (銅) ซึ่งกลายมาเป็นภาษาจีนกลาง (แมนดาริน) ว่า tóng

จากการวิเคราะห์จากระบบเสียงของภาษาในตระกูลไทต่างๆ ร่วมกัน พบว่าการยืมคำนี้เกิดขึ้นในสมัยหลังภาษาไทดั้งเดิม (Proto-Tai)

(ดังนั้นจะบอกว่า ทอง เป็นคำไทยแท้ ก็ไม่เชิง แต่ที่แน่ๆ ไม่ได้ยืมมอญ)

คำว่า ทอง ในภาษาตระกูลไทต่างๆ

ภาษาตระกูลไทหลายๆ ภาษาล้วนมีคำเชื้อสายร่วม "ทอง" ใช้ทั้งนั้น แม้แต่ภาษาที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลมอญ-เขมรก็ตาม โดยมักใช้ในความหมายว่า ทองแดง หรือ ทองเหลือง ดังต่อไปนี้
  • ภาษากลุ่มไทเหนือ (Northern Tai): จ้วงมาตรฐาน /toŋA4/, แสก /thɔːŋA4/ (อาจยืมมาจากไทยหรือลาว)
  • ภาษากลุ่มไทกลาง (Central Tai): Leiping /tho:ŋA4/, Lungming /to:ŋA4/, Western Nung /toŋA4/, Cao Bang /d̤ɔːŋA4/*
  • ภาษากลุ่มไทตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Tai): ไทย /thɔːŋA4/; ไทดำ, ไทขาว, ไทใหญ่ /tɔŋA4/; ไทลื้อเชียงรุ่ง /tɔŋA4/, ลาวหนองคาย /thɔːŋA4/
(*ภาษาไทกาวบั่ง (Cao Bang) มาแปลกหน่อยตรงที่พยัญชนะต้นเป็นเสียง ด เด็ก (/d/) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าภาษาไทกาวบั่งยังสามารถรักษาความก้องของเสียงพยัญชนะต้นได้อยู่ ไม่มีการสูญเสียความก้องแบบภาษาตระกูลไทส่วนใหญ่)

จะเห็นว่าภาษาในตระกูลไทเกือบทุกภาษามีใช้เต็มไปหมด แม่แต่ภาษาที่ไม่น่าจะได้รับอิทธิพลจากมอญ-เขมรก็ยังมีคำนี้ จึงเชื่อได้ว่า คำว่า ทอง ไม่น่าจะยืมมาจากภาษามอญ

มาแวะดูภาษามอญกันบ้าง

ภาษามอญโบราณมีคำว่า ถรฺ (thar /thɔr/) ซึ่งกลายมาเป็นภาษามอญปัจจุบันว่า ထဝ် (ถว์, อ่านว่า /thɔ/ /ทอ/) คำนี้น่าจะบังเอิญมาคล้ายกันกับคำว่า ทอง มากกว่าที่จะเป็นคำที่มีเชื้อสายเกี่ยวข้องกัน

นอกจากเหตุผลที่ว่า คำนี้เป็นคำร่วมเชื้อสายไทหลายๆ ภาษาแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมคำนี้จึงไม่ควรมาจากภาษามอญ คือเหตุผลเกี่ยวกับกาารเปลี่ยนแปลงของระบบเสียงของทั้งภาษาไทยและภาษามอญ

ทั้งภาษาไทยและภาษามอญในปัจจุบัน มีระบบเสียงที่แตกต่างจากภาษาโบราณพอสมควร เอาคนจากปัจจุบันไปคุยกับคนที่ใช้ภาษาเหล่านี้ในสมัยโบราณ เชื่อว่าน่าจะฟังกันไม่รู้เรื่องแน่นอน

สำหรับภาษาไทยโบราณ พยัญชนะ ค, ท และ พ เคยออกเสียงเป็น /g/ (เสียงแบบตัว g ในภาษาอังกฤษ), /d/ (เสียง ด เด็ก), และ /b/ (เสียง บ ใบไม้) ตามลำดับ ต่อมา ราวๆ สมัยหลังอยุธยาตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ 21) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้นกับภาษาไทย (เทียบได้กับ Great Vowel Shift ในภาษาอังกฤษ) นั่นคือเกิดการสูญเสีย "ความก้อง" ของเสียงพยัญชนะขึ้น พยัญชนะ ค /g/, ท /d/, และ พ /b/ ก็กลับกลายมาออกเสียงอย่างในปัจจุบันคือ /kh/, /th/ และ /ph/

คำว่า ทอง ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงแล้ว (หรือถ้าเชื่อว่าจารึกหลักนี้เป็นของปลอม ก็มีจารึกอีกหลายหลักในสมัยสุโขทัยที่มีคำนี้ปรากฎเช่นกัน เช่น จารีกวัดป่ามะม่วงภาษาไทย) ณ จุดจุดนี้ คำว่า ทอง ควรจะอ่านออกเสียงว่า "ดอง" /d̤ɔːŋ/ ซึ่งถ้าอ่านออกเสียงแบบนี้จริง ก็แปลว่าไม่สอดคล้องกับเสียงในภาษามอญโบราณ ซึ่งออกเสียงว่า ทอรฺ /thɔr/

ถ้าหากคนไทยสมัยสุโขทัยยืมคำนี้มาจากมอญจริง ควรจะเขียนคำนี้ในรูป ถอร (อนุโลมให้เป็น ถอง หรือ ถอ ด้วยก็ได้เอ้า) มากกว่า เพราะตัว ถ ถุง ภาษาไทยสมัยสุโขทัยออกเสียงว่า /th/ เหมือนกับภาษาไทยปัจจุบัน ถ้าเขียนว่า ถอร ก็จะสะท้อนถึงการออกเสียงเป็น /thɔr/ แบบเดียวกับภาษามอญ ไม่ควรที่คนไทยจะฟังคนมอญออกเสียงว่า /thɔr/ แล้วยืมเข้ามาเป็น /d̤ɔːŋ/

แล้วทำไมภาษามอญถึงมีคำนี้ ที่บังเอิญมาคล้ายกับคำไทได้... ไม่ทราบเหมือนกันครับ หากใครทราบโปรดชี้แจงแถลงไขด้วย

คำว่า ทองคำ ไม่ใช่คำซ้อน

อันนี้เป็นหัวข้อแถม ก็เป็นความเชื่ออย่างแพร่หลายเหมือนกันว่า คำว่า ทองคำ เป็นคำซ้อนข้ามภาษา เหมือนกับคำว่า ฟ้อนรำ เด็ดขาด หนองบึง ฯลฯ ซึ่งผู้เขียนจะแสดงห้เห็นว่า คำว่า ทองคำ ไม่ใช่คำซ้อน

คำซ้อน  หมายถึง  คำที่เกิดจากการสร้างคำโดยนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน  คล้ายกัน  ตรงข้ามกัน  หรือมีความเกี่ยวข้อง  สัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่งมาเขียนซ้อนกัน  ซึ่งอาจทำให้เกิดความหมายเฉพาะหรือความหมายใหม่ขึ้นมา

คำว่า ฟ้อนรำ เด็ดขาด หนองบึง ฯลฯ เมื่อแยกออกมาเป็นสองคำแล้ว ทั้งสองคำมีความหมายใกล้เคียงกันมาก หรือความหมายเหมือนกัน และความหมายใหม่ที่ได้จากการรวมคำทั้งสอง ก็ยังมีความหมายไปในทางเดิมอยู่ ดังนั้นคำพวกนี้จึงเป็นคำซ้อนจริง

ในขณะที่คำว่า ทองคำ ไม่ใช่คำซ้อน เนื่องจากคำว่า ทอง ในภาษาไทยปัจจุบันมีความหมายกว้างขึ้นมาก (จากเดิมที่มีความหมายแค่ "copper, brass") กลายเป็นคำเรียกรวมๆ โลหะแวววาวบางชนิด เช่น ทองคำ ทองแดง ทองเหลือง ฯลฯ ต่อมาเมื่อมีการยกให้ทองคำมีความสำคัญเป็นพิเศษ คำว่า ทอง เดี่ยวๆ จึงมีความหมายแคบลงกลายเป็น "gold" ได้ด้วย ในขณะที่คำว่า คำ เป็นคำไท (เกือบ) ดั้งเดิมที่มีความหมายว่า "gold" แต่แรกอยู่แล้ว การใช้คำว่า คำ เดี่ยวๆ อาจทำให้เกิดความสับสนกับคำว่า คำ ที่มีความหมายว่า "word" ได้ จึงต้องเติมคำว่า ทอง เพื่อเป็น "ตัวบ่งประเภท" ไปข้างหน้าเพื่อไม่ให้สับสน กลายเป็น ทองคำ ในปัจจุบัน

คำว่า ทอง ใน ทองคำ มีหน้าที่เดียวกับ เสื้อ ใน เสื้อกล้าม, ข้าว ใน ข้าวหอมมะลิ, กล้วย ใน กล้วยหอม เป็นต้น ดังนั้น ทองคำ จึงไม่ใช่คำซ้อน และไม่ใช่คำซ้อนข้ามภาษาด้วย

อ้างอิง
  1. Pittayaporn, Pittayawat. (2009a). The Phonology of Proto-Tai (Doctoral dissertation). Department of Linguistics, Cornell University.
  2. Pittayaporn, Pittayawat. (2014). Layers of Chinese Loanwords in Protosouthwestern Tai as Evidence for the Dating of the Spread of Southwestern Tai. MANUSYA: Journal of Humanities.
  3. Pittayaporn, Pittayawat; Kirby, James (2016). Laryngeal contrasts in the Tai dialect of Cao Bằng. Journal of the International Phonetic Association.
  4. Hudak, Thomas John (2008). William J. Gedney's Comparative Tai Source Book. Oceanic Linguistics Special Publications. University of Hawai'i Press.
  5. H. L. Shorto, Paul Sidwell, Doug Cooper, Christian Bauer (2006). Mon-Khmer Comparative Dictionary. Pacific Linguistics, Research School of Pacific and Asian Studies, Australian National University.
  6. ตรงใจ หุตางกูร (2558). มรดกความทรงจำแห่งเมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย : ประมวลจารึกสมัยพระยาลิไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร.
  7. สุจิตต์ วงษ์เทศ (2563). “ภาษาที่ใช้” บอกให้รู้ว่าบรรพชนไทยสายหนึ่งเป็น “ลาว”. ศิลปวัฒนธรรม. สำนักพิมพ์มติชน. สืบค้นเมื่อ 21/5/2563 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_36443

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โปรแกรม แปลงภาษาไทยเป็นภาษาลู อัตโนมัติ

โปรแกรมแปลงภาษาไทยเป็นภาษาลูอัตโนมัติ มีให้ท่านได้ลองใช้กันแล้ว ที่นี่ โปรแกรมแปลภาษาลู Beta version ...