วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กลยุทธ์การเข้าซื้อกองทุนแบบ DCA และ VA (ตอนที่ 1: เกริ่นนำ)

สวัสดีครับมิตรรักแฟนบล็อกทุกท่าน ห่างหายกันไปนานเลยนะครับ(เมิงนั่นแหละห่างหาย --ผู้อ่าน) สำหรับบทความนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ออกจะเฉพาะทางสักเล็กน้อย ในบทความนี้เราจะพูดถึงกลยุทธ์ DCA และ VA ในการลงทุนในกองทุนรวมครับผม

การลงทุนคืออะไร? พูดภาษาบ้านๆ ง่ายๆ ก็คือการเอาเงินไปกองแช่ไว้ที่ไหนสักที่ แล้วหวังว่าเงินเหล่านั้นมันจะแตกหน่อ ออกลูกออกหลานขยายตัว เป็นเงินจำนวนที่มากขึ้นกว่าเดิมในอนาคต การลงทุนสามารถทำได้หลายลักษณะ เช่นลงทุนในหุ้น ในทองคำ ในกองทุนรวม ในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ในวันนี้เราจะพูดถึงกองทุนรวมเป็นหลัก กองทุนรวมคืออะไรล่ะ? อธิบายโดยภาษาบ้านๆ ก็คือ เป็นการนำเงินของชาวบ้านชาวช่องที่สนใจอยากจะลงทุน มารวมกันเป็นกองกลาง จากนั้นผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์อย่างอื่นเช่น หุ้น ทองคำ อสังหาฯ ตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้นกำหนด ทำให้ผู้ลงทุนไม่ต้องมาลงทุนด้วยตัวเอง มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพจัดการให้!

การลงทุนในกองทุนรวมนั้นดูจะง่ายสำหรับมือใหม่ที่สุดแล้ว เพราะว่า (ตามที่คนกองทุนรวมเขาโฆษณาชวนเชื่อ เอ้ย ชี้แจงข้อเท็จจริง) ว่า ท่านไม่จำเป็นต้องจับจังหวะตลาด คาดการณ์ราคา ไรเงี่ย ไม่ต้องๆ เอาเงินมาให้เรา เดี๋ยวจัดการให้เอง (ในประเด็นนี้คนเล่นหุ้นเองเขาก็เถียงกลับมาว่า ให้กองทุนเล่นหุ้นให้ก็เหมือนยืมจมูกคนอื่นหายใจ, กองทุนจะไว้ใจได้เร้อ และอื่นๆ อีกมากมาย อันนี้ก็สุดแล้วแต่พี่ท่านจะเถียงกันเถอะครับ ผมไม่ขอพูดถึงประเด็นนี้)

กลยุทธ์การลงทุนในกองทุนรวมนี้ก็มีหลายอย่างเช่นกัน ท่านอาจจะเลือกจับจังหวะตลาดในการเข้าซื้อ/ขายออกเหมือนเล่นหุ้นเองก็ได้ หรือเอาเงินก้อนไปซื้อกองทุน ทิ้งไว้ยาวๆ ตามระยะเวลาที่ต้องการให้เงินโตขึ้นๆ จากนั้นจึงขายออกมา (วิธีนี้เรียกว่า Lump-sum) แต่วิธีนี้ต้องใช้เงินต้นก้อนใหญ่พอสมควรจึงจะทำให้เงินโตจากเดิมมากจนคุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไป

ถ้าท่านไม่มีเงินก้อนใหญ่โตขนาดนั้นพอที่จะลงทุนแบบ Lump-sum และเหนื่อย/ขี้เกียจกับการจับจังหวะตลาด ไม่อยากให้อารมณ์เข้ามาเจือปนในการลงทุน(เขาว่ากันว่า เจ้าอารมณ์นี่แหละทำให้นักลงทุนขาดทุนเยอะ) เรามีกลยุทธ์มานำเสนอให้ท่าน นั่นก็คือ กลยุทธ์ Dollar cost averaging(DCA) แปลเป็นไทยก็คง "การถัวเฉลี่ยต้นทุน" และอีกกลยุทธ์ก็คือ Value averaging(VA) แปลเป็นไทยว่า "การถัวเฉลี่ยมูลค่า" นั่นเอง

กลยุทธ์ทั้งสองแบบนี้มีหลักปฏิบัติคือ ท่านต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอเป็นงวดๆ ตามที่ท่านต้องการ อาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ด้วยวิธีเหล่านี้ท่านไม่จำเป็นต้องไปจับจังหวะหอยอะไรเล้ยย เพียงทำตามกลยุทธ์อย่างสม่ำเสมอ เมื่อไม่มีการจับจังหวะก็จะไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องให้ท่านเวียนหัวอีกต่อไป ฟังดูน่าสนแล้วใช่มั้ยล่ะ! ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยครับ

ในตัวอย่างต่อไปนี้จะสมมุติว่ากองทุนนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุน(Front-end fee) และค่าธรรมเนียมรับซื้อคืนหน่วยลงทุน(Back-end fee) นั่นหมายความว่าราคาซื้อ-ขายหน่วยลงทุนก็จะเท่ากับ NAV ของกองทุนนั้นนั่นเอง

Dollar cost averaging (DCA; ถัวเฉลี่ยต้นทุน)


กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่เรียบง่ายสุดแล้ว ในกลยุทธ์นี้ท่านเพียงแค่นำเงินจำนวนเท่าๆ กันเข้าซื้อกองทุนทุกๆ งวด ไม่ต้องสนใจว่ากองทุนมันจะขึ้น มันจะลง หรือมันจะขึ้นๆ ลงๆ ก็เหมือนกับที่ท่านหยอดกระปุกออมสินตอนเด็กๆ นั่นแหละครับ

ว่าแล้วก็มาดูตัวอย่างกันดีกว่า สมมุติว่ามีกองทุนหนึ่ง ให้ชื่อว่ากองทุน A ละกัน กองทุนนี้เป็นกองทุนหุ้น และเนื่องจากเป็นกองทุนหุ้น กราฟกองทุนก็จะผันผวนขึ้นๆ ลงๆ เป็นอย่างมากยังกะรถไฟเหาะ

งวดที่ 1 กองทุนมี NAV 10 บาท เราเอาเงิน 2,000 เข้าซื้อกองทุน ดังนั้นเราจะได้หน่วยลงทุนมาทั้งสิ้น 2,000/10 = 200 หน่วย

งวดที่ 2 ช่วงนี้หุ้นขึ้นเป็นผีบ้า NAV กระฉูดขึ้นเป็น 20 บาท เราก็ลงทุนงวดนี้ 2,000 บาทเช่นเคย ได้หน่วยมา 2,000/20 = 100 หน่วย รวมกับงวดที่แล้วเป็นทั้งสิ้น 300 หน่วย

งวดที่ 3 หุ้นหล่นฮวบ NAV กองทุนเหลือ 5 บาท ทำให้ตอนนี้เท่ากับว่า กองทุนของเราจะมีมูลค่าเท่ากับ 300 หน่วย คูณด้วย 5 บาท = 1,500 บาทเท่านั้นเอง (ตอนนี้ท่านก็สบถในใจว่า ควรเอ๊ย! กูลงไปตั้ง 4,000 ตอนนี้ขาดทุนยับเหลือ 1,500 แต่เอาเถอะ ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง วันนี้หุ้นตก วันหน้าหุ้นก็ขึ้น)
ท่านก็ยังคงทำตามกลยุทธ์ที่วางไว้ คือลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมคือ 2,000 บาท ท่านจะได้หน่วยมา 2,000/5 = 400 หน่วย รวมกับของเดิมทั้งสิ้น (300+400) 700 หน่วยครับ

ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนครบระยะเวลาที่ท่านต้องการ ระหว่างทางเจ้ากองทุนอาจจะขึ้นลงเป็นระลอกคลื่นโหมกระหน่ำได้ ก็อย่าไปสนใจมัน ตั้งหน้าตั้งตาทำตามกลยุทธ์ที่เราได้วางไว้

มีสิ่งหนึ่งที่ท่านน่าจะสังเกตได้คือ เวลาที่ NAV ของกองทุนสูงขึ้น เราจะซื้อหน่วยได้น้อยลง และเวลาที่ NAV ลดต่ำลง เราก็จะซื้อหน่วยได้มากขึ้น แสดงว่าในระยะยาว ถ้า NAV มีความผันผวนสูงต่ำสลับกันแล้ว เท่ากับว่าเราได้ซื้อหน่วยที่ราคาเฉลี่ยๆ กันตลอดระยะเวลาการลงทุนนั่นเอง เป็นที่มาของชื่อกลยุทธ์ "ถัวเฉลี่ยต้นทุน"

Value averaging (VA; ถัวเฉลี่ยมูลค่า)


เช่นเคยกับกลยุทธ์ถัวเฉลี่ยต้นทุน DCA ของเรา กลยุทธ์นี้ต้องอาศัยวินัยของท่านในการทำเป็นประจำสม่ำเสมอ

แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ กลยุทธ์นี้เสมือนเป็นเหรียญคนละด้านกับ DCA ตรงที่ DCA เราลงทุนเท่ากันทุกๆ งวด แต่สำหรับ VA นี้คือ เรากำหนดให้มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่ากันทุกๆ งวดแทน ฟังแล้วอาจจะงง มามะมาดูตัวอย่างกันดีกว่า

ในตัวอย่างนี้สมมุติว่าเราตั้งใจให้มูลค่ากองทุนเพิ่มขึ้นทีละ 2,000 บาท ดังนั้นในงวดที่ 1, 2, 3, 4, ... มูลค่าที่เราต้องการจึงเป็น 2,000, 4,000, 6,000, 8,000, ... ตามลำดับ สำหรับบางงวดที่เราซื้อหน่วยลงทุน อาจจะได้รับจำนวนหน่วยลงทุนที่เป็นทศนิยมไม่รู้จบ ซึ่งผู้เขียนจะขอคงไว้เช่นเดิมไม่ปัดขึ้นหรือลงนะครับ*1

งวดที่ 1 กองทุนมี NAV 10 บาท เราตั้งใจว่าจะให้กองทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทีละ 2,000 บาทในแต่ละงวด ในงวดแรกนี้ก็เลยลงทุนไป 2,000 บาทเป๊ะ ได้หน่วยมา 200 หน่วย

งวดที่ 2 กองทุนมี NAV 15 บาท เรามีหน่วยลงทุนแล้ว 200 หน่วย มูลค่ากองทุนจึงเป็น 15x200 = 3,000 บาท ในงวดนี้เราตั้งใจให้มูลค่ากองทุนเพิ่มเป็น 4,000 บาท เราจึงลงทุนเพิ่มเพียง 1,000 บาทเท่านั้น และได้หน่วยเพิ่มมา 1000/15 = 66.66... หน่วย รวมกับหน่วยตอนแรกเป็น 266.66.... หน่วย

งวดที่ 3 กองทุนหล่นฮวบชิบหายวายป่วง เหลือ NAV 3 บาท มูลค่ากองทุนจึงเหลือ 3x266.66... = 800 บาทเท่านั้นเอง แต่ในงวดนี้มูลค่าเป้าหมายของเราคือ 6,000 บาทว่ะ ก็ต้องลงทุนเพิ่มอีก 5,200 บาท เพื่อให้ครบตามมูลค่าที่เราตั้งใจไว้ ได้หน่วยลงทุนเพิ่มมา 5,200/3 = 1,733.33... หน่วย รวมกับของเก่าเป็น 2,000 หน่วย

งวดที่ 4 ตลาดกระทิงกลับมาอีกครั้ง NAV กองทุนขยับขึ้นเป็น 5 บาท มูลค่ากองทุนของเราจึงเพิ่มเป็น 10,000 บาท (5 บาท x 2,000 หน่วย) แต่มูลค่าเป้าหมายของเราในงวดนี้คือ 8,000 บาท เราก็ต้องปรับมูลค่ากองทุนให้เท่ากับมูลค่าเป้าหมายโดยการขายหน่วยลงทุนออกไปเสีย 2,000 บาท กองทุนก็จะเหลือมูลค่า 8,000 บาทตามความประสงค์

สิริรวมเงินลงทุนที่เราใช้ไปเท่ากับ 2,000 + 1,000 + 5,200 - 2,000 = 6,800 บาท

กลยุทธ์นี้ก็เช่นเดียวกับ DCA ตรงที่ว่า ในช่วงที่ NAV ตกลงมาก ท่านจะซื้อหน่วยได้มากขึ้นเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือสำหรับ VA แล้วท่านจะซื้อหน่วยได้มากกว่า DCA ซะอีก เนื่องจากในช่วงที่กองทุนร่วงท่านจะต้องลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเพื่อทำมูลค่ากองทุนให้ถึงที่ตั้งเป้าไว้

ในช่วงที่ NAV ขึ้นก็เช่นเดียวกัน ท่านจะซื้อหน่วยได้จำนวนน้อยลงเช่นเดียวกับ DCA แต่ของ VA นี่มีเพิ่มเติมคือ ท่านจะซื้อหน่วยได้น้อยลงกว่า DCA เดิมอีกด้วย เนื่องจากท่านลงทุนด้วยเงินน้อยกว่าเดิมนั่นเอง

นั่นหมายความว่า หน่วยลงทุนส่วนใหญ่ที่ท่านได้ซื้อจะมีราคาต่ำๆ และเมื่อคิดเฉลี่ยต้นทุนที่ท่านใช้ซื้อหน่วยแล้ว ก็จะได้ว่าใช้ต้นทุนน้อยกว่า DCA ธรรมดา!!

จากการศึกษาเชิงประจักษ์ที่ทำกันมานมนานหลายปีดีดัก พบว่ากลยุทธ์ VA ให้ผลตอบแทนดีกว่า DCA ในการลงทุนส่วนใหญ่ แต่ทว่าเนื่องจากด้วยตัวกลยุทธ์ VA เองนั้น เงินลงทุนแต่ละงวดจะไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับว่ากองทุนมันขึ้นๆ ลงๆ ขนาดไหน ทำให้บริหารเงินย้ากยาก อีกอย่างคือยิ่งลงทุนไปนานๆ ระยะหลังๆ นี่อาจมีบางงวดที่เราต้องลงเงินกันแทบหมดหน้าตักเลยทีเดียว ทำให้ VA เป็นกลยุทธ์ที่ยุ่งยากกว่า DCA เยอะ

ผู้เขียนขอจบบทความนี้แต่เพียงเท่านี้ สำหรับบทความตอนถัดไปจะเป็นการจับกองทุนหุ้นไทยชื่อดังมาแข่งกันในระยะยาว 10 ปีด้วยกลยุทธ์ทั้ง DCA และ VA สำหรับตอนนี้ผู้เขียนขอลาไปก่อน สวัสดีครับ

หมายเหตุ


*1 ในโลกแห่งความจริง กลต. ได้กำหนดวิธีการปัดทศนิยมจำนวนหน่วยลงทุนดังนี้: ปัดจำนวนทศนิยมให้เหลือเพียง 5 ตำแหน่งตามหลักสากล (น้อยกว่า 5 ปัดลง, ตั้งแต่ 5 ขึ้นไป ปัดขึ้น) เมื่อเหลือทศนิยม 5 ตำแหน่งแล้วจึงตัดทศนิยมตำแหน่งที่ 5 ทิ้งโดยไม่มีการปัด ในที่สุดจำนวนหนวยลงทุนจะมีทศนิยมได้เพียง 4 หลักเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ซื้อหน่วยลงทุนได้จำนวน 66.78545667... หน่วย ปัดเหลือ 5 ตำแหน่งเป็น 66.78546 และตัดตัวที่ 5 ออกเหลือ 66.7854

โปรแกรม แปลงภาษาไทยเป็นภาษาลู อัตโนมัติ

โปรแกรมแปลงภาษาไทยเป็นภาษาลูอัตโนมัติ มีให้ท่านได้ลองใช้กันแล้ว ที่นี่ โปรแกรมแปลภาษาลู Beta version ...